ชื่อ

กระดังงาไทย


ชื่อวงศ์
ANNONACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์
Canaga odorata (Lam.) Hooker f. & Thomson

ชื่อสามัญ
Ylang-ylang tree

ชื่ออื่นๆ
กระดังงาใบใหญ่ (ภาคกลาง) สะบันงา สะบันงาต้น (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 15-20 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก ปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นสีเทาเกลี้ยง ใบ : ใบเดี่ยวออกเรียงสลับห้อยลง รูปขอบขนาน ใบกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบมนกลมหรือเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบบาง นิ่ม สีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนทั้งสองด้าน ใบแก่มีขนมากตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบ มีจำนวน 5-9 คู่ ลักษณะเป็นร่องที่ส่วนบนของใบ และนูนเด่นชัดที่ส่วนล่างของใบ เส้นกลางใบเห็นชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอก : ดอกช่อแยกแขนงออกตามกิ่ง ช่อหนึ่งมี 3-6 ดอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกมี 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูป แคบยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบดอกกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร ดอกอ่อนสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอมแรง ออกดอกตลอดปี ผล : ผลกลุ่ม มีจำนวน 4-12 ผล ผลรูปไข่ กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1.3-2 เซนติเมตร ผลสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดรูปไข่แบน สีน้ำตาลอ่อน มีจำนวน 2-12 เมล็ด


การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด

การใช้ประโยชน์
เปลือกต้นรสฝาดเฝื่อน ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ท้องเสีย ดอกรสหอมสุขุม บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ

บริเวณที่พบในมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
สวนหย่อม หน้าอาคารเรือนไทย

rspg.vru.ac.th

งานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช.
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์